Stars Classic

Saturday, January 29, 2011

The Phantom of the Opera

"The Phantom of the Opera"  
ภาพยนตร์แนวดนตรียุคคลาสสิกที่ชวนขนลุกตลอดกาล 



เดอะแฟนธ่อมออฟดิโอเปร่า (นวนิยายในภาษาฝรั่งเศสคือ Le Fantôme de l'Opéra และได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Phantom of The Opera) เป็นนวนิยายฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งประพันธ์โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสนามว่า "Gaston Leroux" เป็นนวนิยายแนวโกธิกแบบลึกลับสยองขวัญซึ่งอิงจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในโรงอุปรากรการ์นิเย่ของฝรั่งเศส และมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความรักสามเส้าระหว่างชายอัปลักษณ์ชื่อเอริค (แฟนธ่อม) และคริสทีน ดาเอ้ ผู้ซึ่งเป็นนักร้องอุปรากรสาวลูกศิษย์  และราอูล เรื่องนี้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมอันเศร้าสลด 

เริ่มตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2452 เป็นตอนต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ "Le Gallois"  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของฝรั่งเศส จนจบในวันที่ 8 มกราคม ปีต่อมา ราวศตวรรษที่ 20 เมื่อนำมาพิมพ์จำหน่ายในรูปเล่ม ระยะแรกนั้นยอดขายยังไม่ค่อยดีนัก และยังพิมพ์ขาดช่วงอยู่บ่อยครั้ง ทว่า เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรืออุปรากรเวทีแล้ว การณ์กลับตรงกันข้าม
         
จากเนื้อหาที่คลาสสิกของ เดอะแฟนธ่อมออฟดิโอเปร่า นี้เอง ที่ทำให้มีการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์, ละครเวที และละครเพลงอยู่บ่อยครั้งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และยังมีบทประพันธ์ลูกอีกหลายเรื่อง อาทีเช่น The Phantom (โดย Susan Kay) และ Phantom of the Manhattan เป็นต้น

นิยายเรื่อง เดอะแฟนท่อมออฟดิโอเปร่า ถือเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ด้วย เนื่องจาก Gaston Leroux (กาสตอง เลอรูส์) แต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ก่อนช่วงที่เขียนนวนิยายย้อนหลังไปประมาณสามสิบปี อันเป็นเหตุการณ์ที่ดึงความสนใจเขานั่นคือ "โคมระย้าที่หล่นลงมาจากเพดานโดยไม่ทราบสาเหตุ" ที่เกิดขึ้นระหว่างอุปรากรเรื่อง "เฟ้าส์" ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคนและเสียชีวิตหนึ่งคน และคนกลุ่มเล็กๆจมน้ำเสียชีวิตในคลองใต้โรงละครอย่างลึกลับ จนกระทั่งการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ Viscount Philipppe ผู้อุปถัมภ์โรงอุปรากร  ซึ่งภายหลังพบศพของเขาที่ปากท่อระบายน้ำ รวมไปถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ภูติผีปีศาจ" ที่สิงสถิตในโรงอุปรากร แม้แต่เรื่องที่ว่าโรงอุปรากรประสบกับภาวะการเงินฝืดเคือง และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากเป็นปริศนาถึง 20,000 ฟรังส์ต่อเดือนในช่วงนั้น

แม้นวนิยายเรื่อง "Phantom of the Opera" หรือ "ปีศาจแห่งโรงอุปรากร" จะเป็นเรื่องที่ล่ำลือกันหนาหูในห้วงเวลานั้นจริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่รู้กันลับๆ เฉพาะวง ในหมู่คนที่ทำงานในโรงอุปรากรเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เรื่องของปีศาจตนนี้โด่งดังขึ้นจากนวนิยายของ Leroux (เลอรูส์) นั้นเอง กาสตองนั้นแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเชื่อในเรื่องที่เขาแต่งขึ้นนี้ และยังอ้างอีกว่าระหว่างการซ่อมแซมโรงอุปรากรการ์นิเย่นั้น เขาได้พบศพ ซึ่งเขามั่นใจว่านั่นคือ เอริค-ปีศาจแห่งโรงอุปรากร โดยอ้างว่าโครงกระดูกนั่นมี "แหวนปลอกทอง" สวมที่นิ้ว ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของนายตำรวจชาวเปอร์เซียที่ว่า "เขาได้รับแหวนทองจาก 'Christine Daaé' ในวันที่เธอจากเขาไป" แต่เลอรูซ์ ไม่ได้บอกว่าร่างที่เชื่อว่าเป็นเอริคนั้นถูกย้ายไปไว้ที่ไหน

ตัวละครสำคัญ

เอริค (Erik-ไม่ปรากฏนามสกุล) - บุรุษที่มีน้ำเสียงไพเราะดั่งเสียงเทพจากสวรรค์ หากใบหน้ากลับพิกลพิการจนถึงขั้นอัปลักษณ์ แฝงเร้นกายภายใต้ชื่อ "ปีศาจแห่งโรงอุปรากร (The Phantom of the Opera)" 
ด้วยต้องการหลบลี้หนีหน้าจากความโหดร้ายของผู้คนในสังคมที่กระทำต่อเขาจนทำให้เขากลายเป็นคนวิกลจริตและถูกเหล่าผู้คนในโรงอุปรากรทึกทักเอาว่าเป็นผี แม้ว่าเขาจะมีอัจฉริยภาพทางดนตรี และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโรงอุปรากร เขายังเป็นผู้ปลุกปั้นคริสทีนเพื่อให้เธอเป็นเพชรเม็ดงามประดับโรงอุปรากร แต่ในท้ายที่สุดแล้วเขากลับหลงรักเธอเสียเอง
ในนวนิยายนั้นเขียนพรรณนาถึงเขาว่ามีดวงตาสีทอง มีรูปลักษณ์ที่ผอมแห้งราวหนังหุ้มกระดูก เหมือนโครงกระดูกเดินได้ ซึ่งรูปลักษณ์นี้เอง ทำให้เขาเคยถูกนำมาแสดง "ซากมีชีวิต" และถูกปฏิบัติราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ นอกจากอัจฉริยภาพนานับประการของเขาในด้าน มายากล การปลอมตน และพากย์เสียงแล้ว เขายังใช้ภาษาพูดราวกับว่าตนเองเป็นบุคคลที่สาม คล้ายคลึงภาษาพูดของด๊อบบี้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
ถึงแม้ว่าในนวนิยายต้นฉบับ จะไม่ได้มีรายละเอียดสื่อถึงตัวเขามากนักก็ตาม แต่ก็พอทราบเค้าว่าเขาเศร้าโศกเสียใจในเรื่องที่แม่ของเขาหวาดกลัวพ่อของเขาแค่ไหน พ่อของเขานั้นเหมือนนายเหนือหัวในบ้าน ไม่เคยเห็นเขาอยู่ในสายตาเลย และชื่อของเขาก็ไม่ได้เป็นชื่อที่ตั้งให้เมื่อแรกเกิดด้วยซ้ำ หากแต่เป็นชื่อที่บังเอิญนำมาใช้เท่านั้นเอง เลอรูส์ผู้แต่งนวนิยายเรื่องนี้ บางครั้งยังใช้คำว่า "The Man's Voice" เพื่อแทนตัวเอริค ส่วนตัวของเขาเอง เขาคิดว่าตนเองเป็น "ปีศาจอุปรากร" บ้างก็ "เทพแห่งเสียงดนตรี" และยังเคยปรากฏตัวในงานสโมสรสวมหน้ากากภายใต้ "Red Death มัจจุราชแดง"
อดีตของเอริคบอกเล่าถ่ายทอดมาจากบุคคลสำคัญในสังคมคนหนึ่งตามท้องเรื่อง ซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียหรือ daroga ผู้เป็นนายตำรวจในระดับหัวหน้าของท้องถิ่นของเปอร์เซียและติดตามเอริคไปที่ปารีส
เอริคเกิดในเมืองเล็กๆนอกแคว้น Rouen ของประเทศฝรั่งเศส อัปลักษณ์ตั้งแต่แรกเกิดจนคนในครอบครัวยังรู้สึกหวาดกลัวขนลุก และนั่นเองทำให้เขาหนีเตลิดออกไปจากบ้านไปเมื่อครั้งยังเด็ก ออกเร่ร่อนไปกับวงดนตรีของพวกยิปซี และหาเลี้ยงชีพด้วยการแสดงโชว์แนวสยองขวัญ ชื่อเสียงในด้านร้องเพลงของเขาเป็นที่ร่ำลือจนวันหนึ่งพ่อค้านำไปรายงานให้ "Shah แห่งเปอร์เซีย" ทราบ กษัตริย์จึงทรงนำเขามาชุบเลี้ยงในวังตั้งแต่นั้นมา และสัญญาว่าจะสร้างปราสาท "Mazenderan" อย่างงดงามปราณีตให้เขา เมื่อเขาร้องเพลงถวาย
ปราสาทนั้นถูกออกแบบให้มีประตูค่ายกลและห้องลับมากมายจนแม้กระทั่งเสียงกระซิบอันแผ่วเบาก็ไม่ได้ยิน อาจถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับเขาได้เลย ห้องหับต่างๆที่ซ่อนไว้ทำให้เขาสามารถร้องเพลงได้โดยไม่ต้องเกรงว่าใครผู้ใดจะมาได้ยิน เอริคนั้นยังเป็นตำรวจมือสังหารของกษัตริย์ โดยใช้บ่วงบาศก์ที่เรียกว่า "บ่วงแบบปันจาบ"
พวกเปอร์เซียที่ทำงานให้เขา อยู่อย่างหวาดผวาในเคหาสน์สถาน Mazenderan มากเสียจนไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย กษัตริย์นั้นโปรดปรานเอริคเป็นอย่างมากและเสนอจะสร้างปราสาทหลังใหม่ให้ หากเอริคทำให้ตาของเขาเองบอด  ด้วยพระองค์เข้าใจว่าแค่เสียงเพลงเท่านั้นที่เอริคต้องทำหน้าที่ถวาย จึงไม่จำเป็นต้องไปไหนมาไหนทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เอริคจึงต้องหลบหนีไป
คริสทีน ดาเอ้ (Christine Daaé) - หญิงสาวนักร้องอุปรากรชาวสวีเดนและเป็นลูกศิษย์ของเอริค มีดวงตาสีฟ้าและผมสีบรอนซ์สั้น เธอนั้นเชื่อสนิทใจว่าเอริคนั้นเป็นทูตสวรรค์จริงๆ จากน้ำเสียงอันไพเราะเหนือมนุษย์ผนวกด้วยความลึกลับของเขา  ด้วยความหลงใหลในน้ำเสียงและความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เธอกระชากหน้ากากที่ปิดบังซ้อนเร้นใบหน้าอันอัปลักษณ์ของเขา นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโศกนาฏกรรมในนวนิยายเรื่องนี้ก็ว่าได้

ราอูล (Raoul, Viscount de Chagny) - บุรุษรูปงามผู้เป็นเพื่อนรักกับคริสทีนมาตั้งแต่เด็ก เป็นชายหนุ่มเปี่ยมเสน่ห์ และผยองในรูปโฉมของตน เขาเป็นน้องชายของ Phillippe, Viscount de Chagny ผู้อุปถัมภ์โรงอุปรากร เป็นคนเปอร์เซียและเป็นตัวละครเดินเรื่องสำคัญบุคคลหนึ่ง และยังเป็นผู้ที่เปิดโปงเรื่องราวของเอริค และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนเดียวที่เอริคสามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเพื่อน เขาเป็นเจ้าของวลีที่ว่า "ยกมือขึ้นมาอยู่ในระดับสายตา" เพราะหากยกมือขึ้นชี้ต่ำกว่านั้น "บ่วงบาศก์แบบปันจาบจะทิ้งตัวลงมาคล้องคอไม่ได้"
มาดามจีรี (Madam Giry) เป็นล่ามระหว่างเอริคกับโรงอุปรากร เพราะเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากเขามาก่อน และเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่นอกจากจะไม่กลัวเขาแล้วยังรู้สึกสงสารเขา เธอเป็นผู้เก็บรักษากล่องดนตรีของเอริคหลังความตายของเขา
เม็ก จีรี (Meg Giry) บุตรีของมาดามจีรี เป็นดาวนักบัลเลต์อันดับหนึ่ง เธอมีผมสีดำ ผิวคล้ำ และตาสีดำ เหมือนชาวชวา หรือ สิงหล ซึ่งแตกต่างจากคนฝรั่งเศสทั่วไป (คาดว่าน่าจะเหมือนบิดา) ซึ่งเป็นปมด้อยที่ทำให้เธอมักพูดถึงตัวเองทำนองว่าเป็น "ผู้หญิงชั้นต่ำที่น่าสมเพช" เอริคเคยทำนายไว้ด้วยไพ่ทารอทว่าเธอจะได้เป็น "จักรพรรดินีของแม่" และภายหลังเธอได้กลายเป็นภรรยาของขุนนางจริงตามที่เอริคเคยทำนาย
วิสเค้าท์ฟิลลิปป์ (Philippe, Viscount de Chagny) พี่ชายของราอูล แก่กว่าราอูลถึง 20 ปี และเป็นคนที่ผู้ประพันธ์นวนิยายอ้างว่าความตายของเขาเป็นเหตุให้ผู้ประพันธ์ต้องค้นหาความจริง จนได้พบกับนายตำรวจเปอร์เซียและมาดามจีรี่ ซึ่งทั้งคู่ได้ช่วยเปิดเผยเรื่องราวของเอริค

อ้างอิง/ขอบคุณ: คัดลอกและกลั่นกรองจากวิกิพีเดีย



No comments: